~
~
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 66 เพจ คณะศิษย์ หลวงปู่บุญส่ง ฐิตสาโร วัดสันติวนาราม อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี อยู่ที่ วัดกระดึงทอง (หลวงพ่อเหลือง) ได้เผยข้อความระบุว่า พระเทพมงคลวัชราจารย์ #หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม วัดกระดึงทอง ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๔๕ น. ตรงกับวันอังคารที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๖ สิริอายุ ๙๕ ปี ๗ เดือน ๙ วัน พรรษา ๗๖
~
~
• #ชีวประวัติปฏิปทาหลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม ท่านนับเป็นศิษย์อาวุโสรูปหนึ่งของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล , ท่านพ่อลี ธัมมธโร , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ของท่านคือ แน่วแน่กับการปฏิบัติภาวนาไม่เสื่อมคลาย อยู่อย่างสมถะ เรียบง่าย นับเป็นพระมหาเถระที่ควรแก่การอัญชลี หลวงปู่เหลือง ฉันทาคโม ท่านมีนามเดิมว่า เหลือง เกิดในสกุล ทรงแก้ว
~
~
ท่านถือกำเนิดในยามใกล้รุ่งของวันอังคารที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ที่บ้านนาตรัง หมู่ที่ ๒ ต.เขวาสินรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นบุตรคนที่ ๖ ของนายเที่ยง ทรงแก้ว และนางเบียน ทองเชิด หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ แล้วต่อมาท่านได้ออกจาริกเดินตามหลังพระพี่ชายไปเมื่อตอนอายุ๑๖ ปี พระพี่ชายทั้งสองคือพระครูสมุห์ฉัตร ธัมมปาโล และพระอาจารย์สมุห์เสร็จ ญาณวุฑโฒ ซึ่งพระทั้งสองเป็นศิษย์หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น มือขวา ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต โดยทั้งหมดได้ออกธุดงค์ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ จากสุรินทร์ไปถึงนครราชสีมา ไปฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง
~
~
หลังจากนั้นชีวิตของหลวงปู่เหลืองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะท่านมีบุญได้พบครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระผู้สรุปอริยสัจ ๔ จนได้รับการขนานนามว่า เจ้าแห่งจิต นอกจากนั้นท่านยังได้มอบกายถวายใจเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร รวมทั้งได้พบและศึกษาธรรมกับท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดป่าคลองกุ้ง จันทบุรี อีกด้วย หลวงปู่เหลือง เล่าถึงอดีตเมื่อครั้งที่ท่านไปกราบท่านพ่อลี ที่วัดป่าคลองกุ้งว่า
~
~
~
~
ตอนนั้นวัดป่าคลองกุ้งยังเป็นป่าอยู่ ต้นไม้ใหญ่ๆ มีศาลทำบุญไม้หนึ่งหลังและกุฏิกรรมฐานเล็กๆ ตั้งอยู่ตามโคนต้นไม้ เงียบสงัด พระฉันแล้วก็เข้ากรรมฐานหมด ไม่เพ่นพ่านรุ่งเรืองเหมือนสมัยนี้ ไปพักอยู่กับท่าน ๑ เดือน บอกกับท่านว่าจะขอธุดงค์ต่อไปทางบ่อไพลิน เข้าสู่แดนเขมร ท่านพ่อลีก็ห้าม เพราะตอนนั้นเป็นช่วงปลายสงครามโลก เหตุการณ์ยังไม่ปกติ เกรงจะเป็นอันตราย แต่พระอาจารย์ฉัตรพี่ชายก็จะขอไปให้ได้ ก็ต้องยอมผ่อนผันให้ไป ท่านพ่อลีเมตตาอาตมามากเพราะยังเป็นเด็ก กลัวจะลำบาก ท่านเลยบอกว่า จะให้คาถากันตัว สั่งให้ท่องไว้ตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวเสือช้างอะไรทั้งสิ้น คาถาของท่านยังจำได้จนถึงบัดนี้ว่า.. นะบัง โมบัง พุทโธบังหน้า ธัมโมบังหลัง
~
~
หลวงปู่เหลืองเล่าต่อไปว่า สภาพบ้านเมืองในขณะนั้น ชั่งมีความแตกต่างจากปัจจุบันนี้มากนัก เพราะท่านใช้เวลาในการเดินทาง ๓ วัน ๓ คืน บุกป่าฝ่าดงจากจันทบุรีทะลุถึงบ่อไพลิน ตามรายทางนั้น ท่านเห็นพลอยเกลื่อนกลาด แต่ไม่ได้เก็บเพราะอาจารย์ฉัตรท่านว่า เรามาธุดงค์แสวงบุญไม่ได้มาหาเพชรพลอย การธุดงค์ครั้งนั้น จบลงด้วยการย้อนกลับมาที่วัดป่าศรัทธารวม จ.นครราชสีมา หากศึกษาย้อนกลับไปในอดีตระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๕ – ๒๔๘๗ พบว่า ณ วัดป่าศรัทธารวมในขณะนั้น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นสดมภ์หลักในการบุกเบิกขยายวงพระกรรมฐาน
~
~
~
~
โดยใช้จังหวัดนครราชสีมาเป็นฐาน โดยท่านเองรับเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้อยู่ถึง ๑๒ ปี ( พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๗) วัดป่าศรัทธารวมซึ่งเป็นป่าช้าเก่าในสมัยนั้น นับเป็นศูนย์รวมของพระกรรมฐานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น พระมหาปิ่น ปัญญาพโล หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ภุมมี ฐิตธัมโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ ฯลฯ ส่วนหลวงปู่เหลืองได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้น ขณะอายุ ๑๗ ปี หรือราวช่วง พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๘๗ โดยบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา มีพระโพธิวงศาจารย์(สังข์ทอง นาควโร) หรือเจ้าคุณโพธิฯเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาลุถึงปี พ.ศ.๒๔๙๐ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดป่าศรัทธารวมนั่นเอง
~
~
ขอบคุณ ภาพจาก คณะศิษย์ หลวงปู่บุญส่ง ฐิตสาโร วัดสันติวนาราม